โรคระบาดอย่างโควิด-19 เพิ่งจะซาไป โรคระบาดใหม่อย่างโรคฝีดาษลิงก็มาทำให้คนทั่วโลกตื่นเต้นกันอีกแล้ว แม้ว่าการระบาดของโรคฝีดาษลิงยังไม่เข้าถึงประเทศไทย แต่ก็ทำให้คนไทยตื่นตัวกับการดูแลและป้องกันตัวเองกันมากขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคฝีดาษลิง โรคระบาดใหม่ ที่ใครๆก็ไม่อยากเป็นกัน


รู้จักโรคฝีดาษลิง


โรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะอย่างหนู กระรอก กระต่าย บนทวีฟแอฟริกา โดยเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่เชื้อไปสู่สัตว์อื่น หรือแพร่เชื้อสู่คนได้ ส่วนสัตว์ที่แพร่เชื้อไม่ใช่ลิงตามชื่อโรค แค่ตั้งชื่อตามการรายงานที่พบโรคนี้เป็นครั้งแรกเกิดจากลิงในห้องทดลองนั่นเอง


โรคฝีดาษลิงแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่
1. สายพันธุ์แอฟริกากลาง มีความรุนแรงมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิต
2. สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ ณ ขณะนี้


จริงๆแล้วโรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ที่เพิ่งระบาด โรคฝีดาษลิงมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 สมัยนั้นยังเป็นโรคที่ควบคุมได้ เพราะมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษกันอยู่แล้ว และภูมิคุ้มกันนี้ก็ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จึงทำให้ภูมิตกและเป็นสาเหตุที่ทำให้โรคฝีดาษลิงระบาดขึ้นมาอีกครั้ง


การติดต่อของโรคฝีดาษลิง


อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าโรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ และคนสู่คนได้ โดยเมื่อเกิดการติดต่อแล้วจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย
1. การติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์
• เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ติดเชื้อ
• เกิดจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือข่วน
• เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ และปรุงไม่สุกเพียงพอ
2. การติดต่อจากคนสู่คน
• เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทางสารคัดหลั่ง จากผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรือละอองฝอยจากการหายใจ
• ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการป่วยประมาณ 2 – 4 สัปดาห์
• ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายจากโรคนี้เองได้ แต่อาการรุนแรงมักพบในเด็กและปริมาณเชื้อไวรัสที่ได้รับ


ระยะฟักตัว และอาการของโรคฝีดาษลิง


ระยะเวลาการฟักตัวของโรคฝีดาษลิง ตั้งแต่ช่วงเวลาที่ได้รับเชื้อจนถึงช่วงที่ออกอาการจะมีตั้งแต่ 7 – 21 วัน โดยอาการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะก่อนออกผื่น ประมาณ 0 – 5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะมาก ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียมาก สำหรับภาวะต่อมน้ำเหลืองโตเป็นลักษณะเด่นของโรคฝีดาษวานรเลย
ระยะออกผื่น ปกติจะเริ่มภายใน 1 – 3 วันหลังจากเริ่มมีไข้ ตุ่มผื่นมักขึ้นหนาแน่นบนใบหน้าและแขนขามากกว่าลำตัว โดยผื่นจะมีขนาด 2 – 10 มิลลิเมตร ในช่วง 2 – 4 สัปดาห์ต่อมา สามารถเกิดตุ่มผื่นได้ทั้ง ใบหน้า ฝ่ามือฝ่าเท้า เยื่อบุช่องปาก อวัยวะเพศ เยื่อบุตา และกระจกตา โดยการเกิดผื่นจะเริ่มจากผื่นแดง แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นผื่นนูน จากนั้นกลายเป็นถุงน้ำ เกิดตุ่มหนอง และเป็นฝี จนตุ่มหนองแตกและแห้งเป็นสะเก็ด ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้น และหมดระยะในการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น


การรักษาโรคฝีดาษลิง


ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงแบบจำเพาะ แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ หรือรับวัคซีนไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 85% หากได้รับวัคซีนหลังจากติดเชื้อจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้ หรือทำให้มีอาการรุนแรงน้อยลง


การป้องกันโรคฝีดาษลิง


1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์
2. หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือสิ่งต่างๆ
3. กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกอยู่เสมอ
4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
5. สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาด
6. การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้


แม้ว่าตอนนี้โรคฝีดาษลิงกำลังระบาดอยู่ทั่วทวีปแอฟริกา และยังไม่แพร่ระบาดในประเทศไทย แต่การรู้จักโรคนี้เพื่อสังเกตอาการและป้องกันตัวเองไว้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ ที่จะทำให้เราปลอดภัยจากโรคฝีดาษลิงได้ ยังไงขอให้ทุกคนปลอดภัยจากโรคฝีดาษลิงกันนะคะ


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *