อาหารที่เรากินเข้าไปทุกวันนี้ล้วนมีทั้งประโยชน์และโทษ โดยเฉพาะอาหารที่มีรสชาติเค็มจัดหรืออาหารประเภทที่มีโซเดียมสูง กินเข้าไปมากๆนอกจากจะทำให้ตัวบวมน้ำ ดูอ้วนแล้ว ยังอันตรายถึงขั้นทำให้ไตทำงานหนักและเกิดไตวายได้ด้วย ถึงแม้โซเดียมจะมีประโยชน์ต่อร่างกายก็จริง เพราะช่วยควบคุมปริมาณของเหลวในร่างกายให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ทั้งยังช่วยการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ แต่การรับโซเดียมในปริมาณที่มากเกินไปย่อมเกิดผลเสียต่อร่างกายแน่นอน และนี่ก็เป็น 8 อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงที่เลี่ยงได้ควรเลี่ยงค่ะ

สารบัญเนื้อหา

1. อาหารกึ่งสำเร็จรูป


อาหารกึ่งสำเร็จรูปที่หลายๆคนชอบกิน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวต้มสำเร็จรูป ข้าวกล่องแช่แข็ง เป็นต้น มีปริมาณโซเดียมที่สูงมาก อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง มีปริมาณโซเดียมมากถึง 1,480 – 1,500 มิลลิกรัม ที่อาหารกึ่งสำเร็จรูปเหล่านี้มีปริมาณโซเดียมสูงก็เพราะโซเดียมจะช่วยยืดอายุของสินค้าให้อยู่ได้นานขึ้นนั่นเอง

2. เนื้อสัตว์แปรรูป


เนื้อสัตว์แปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม ลูกชิ้น หมูหยอง เหล่านี้ล้วนผ่านกระบวนการแปรรูปมามาก นอกจากโซเดียมจะสูงแล้ว ยังมีสารอื่นๆที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย

3. อาหารตากแห้ง


อาหารตากแห้ง เช่น กุ้งแห้ง ปลาสลิดแห้ง ปลาหมึกแห้ง หรือแม้กระทั่งหมูแดดเดียว ล้วนต้องใช้กรรมวิธีถนอมอาหารโดยการใช้เกลือเป็นส่วนสำคัญ แล้วนำไปตากแห้งหรือเข้าเตาอบ ดังนั้นอาหารประเภทนี้จึงมีปริมาณเกลือสูงมากกว่าปกติ

4. อาหารหมักดอง


อาหารหมักดองอย่างผลไม้ดอง ปลาร้า กะปิ ไข่เค็ม แหนม พวกนี้ก็มีกรรมวิธีในการถนอมอาหารโดยการหมักเกลือลงไป จึงทำให้อาหารประเภทนี้มีปริมาณเกลือสูง และโซเดียมก็สูงเช่นกัน

5. ขนมขบเคี้ยว


ขนมขบเคี้ยวอาหารสุดโปรดของใครหลายคนมีปริมาณโซเดียมที่สูงมาก ทั้งยังเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ถึงแม้มันจะอร่อยแค่ไหนก็ตาม ควรจะหักห้ามใจกินให้น้อยลง หรือหลีกเลี่ยงไปเลยจะดีกว่า เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเองค่ะ

6. อาหารที่มีผงฟูเป็นส่วนประกอบ


อาหารที่มีผงฟูเป็นส่วนประกอบอย่างเค้ก ขนมปัง คุ้กกี้ แพนเค้กดูเหมือนจะเป็นอาหารที่ไม่น่ามีโซเดียมสูง แต่ก็มีปริมาณโซเดียมที่สูงมาก เพราะผงฟูหรือเบคกิ้งโซดามีส่วนผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนต ซึ่งเป็นโซเดียมรูปแบบหนึ่ง กินมากก็ได้รับโซเดียมในปริมาณที่มาก แถมกินมากก็อ้วนอีกด้วย รู้อย่างนี้แล้วกินให้น้อยลงดีกว่าค่ะ

7. ซอสปรุงรส


ซอสปรุงรสเพื่อเพิ่มรสชาติอาหารอย่างซอสมะเขือเทศ ซอสพริก หรือน้ำจิ้มสุกี้ พวกนี้ล้วนมีปริมาณเกลือที่สูง ยิ่งใส่เยอะก็ยิ่งเป็นการเพิ่มโซเดียมมากขึ้นไปเท่านั้น หากอยากจะปรุงรสจริงๆ แนะนำให้ใส่ครั้งละน้อยๆจะดีกว่า

8. น้ำผักผลไม้พร้อมดื่ม


น้ำผักผลไม้พร้อมดื่มดูเหมือนจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่จริงๆแล้วในน้ำผักผลไม้พร้อมดื่มมีปริมาณโซเดียมที่สูงอยู่เหมือนกัน ปริมาณโซเดียมอยู่ราวๆ 300 – 400 มิลลิกรัมต่อกล่อง เหตุผลที่ในน้ำผักผลไม้พร้อมดื่มมีปริมาณโซเดียมสูงเพราะเป็นการเพิ่มรสชาติและยืดอายุของเครื่องดื่มในกล่อง


ถึงแม้ว่าอาหารทั้ง 8 อย่างนี้จะเป็นของโปรดใครหลายๆคนเพราะมันอร่อยมากแค่ไหนก็ตาม แต่ก็อยากให้ลดปริมาณในการกินลงบ้าง กินให้น้อยลง ออกกำลังกายให้มากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเองและไม่ต้องกลายเป็นโรคไตในอนาคตด้วยค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *